อำนาจละมุน! วธ.ปลุกพลัง 'Soft Power ไทย' โกยรายได้ ภูมิใจในความเป็นชาติ ชูวัฒนธรรม สร้างภาพลักษณ์ประเทศ

(กรุงเทพฯ) 'Soft Power' หรือ 'อำนาจละมุน' เป็นแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยใช้ความสามารถในการชักจูงใจ ทำให้ผู้อื่นมีความพึงพอใจหรือเต็มใจเปลี่ยนพฤติกรรม ยอมรับ คล้อยตามสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้อำนาจ ซึ่ง ณ วันนี้ เกือบทุกประเทศทั่วโลก ได้นำแนวคิด Soft Power มาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้อย่างมหาศาล

(24 มกราคม 2566) สำหรับประเทศไทยมีการใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้าง Soft Power โดยรัฐบาลมีนโยบายผลักดัน Soft Power ความเป็นไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5 F ได้แก่ อาหาร (Food), ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film), ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion), มวยไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณี (Festival) สู่ระดับโลก เพื่อช่วยสร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ

โดยแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รมว.วัฒนธรรม เป็นรองประธาน และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นกรรมการ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขา ในการกำกับนโยบาย กำหนดเป้าหมายและวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา Soft Power เพื่อส่งเสริมการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไปสู่นานาประเทศ

พร้อมกันนี้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรม การขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการในมิติทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคม ยกระดับสถานะของงานวัฒนธรรม สร้างรายได้และคุณค่าทางสังคม สร้างภาพลักษณ์และความร่วมมือ ของผู้คนในประชาคมโลกบนพื้นฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรม

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เล่าว่า คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรมจะจัดทำแผนการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (พ.ศ.2566-2570) ได้แก่ การกำหนดจุดยืนด้าน Soft Power ของประเทศไทย การสังเคราะห์แบรนด์ประเทศไทย และการกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ บนฐานข้อมูลเชิงสังคมและเศรษฐกิจที่จำเป็น อาทิ การถอดรหัสอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และการเฟ้นหาทุนทางวัฒนธรรมใหม่ ๆ การบริหารจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อใช้ในการขับเคลื่อน Soft Power อย่างยั่งยืน การจัดทำนโยบายและมาตรการใหม่ ๆ ที่ยกระดับ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคศิลปวัฒนธรรมของไทยในระดับสากล การจัดทำและพัฒนาสถิติ ดัชนี ตัวชี้วัดด้านวัฒนธรรม ทั้งในมิติสังคมและเศรษฐกิจให้มีมาตรฐาน กำกับ ติดตาม และประเมินประสิทธิภาพของการนำแผนและนโยบายไปปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อน Soft Power ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) และแผนที่เกี่ยวข้องทุกระดับ

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะสามารถติดอันดับ 1 ใน 15 ประเทศที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมสูงในตลาดโลก และได้รับการจัดอันดับด้านอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมและ Soft Power สูงขึ้น” รมว.วัฒนธรรม ฉายภาพการเดินหน้าและเป้าหมายในการใช้วัฒน ธรรมสร้าง Soft Power ของประเทศ

นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า การมุ่งสู่เป้าหมายทางเศรษฐกิจ คือ ต้องทําวัฒนธรรมให้จับต้องได้ มีการกำหนดเป็นตัวชี้วัดด้านรายได้หรือมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งมองหา โอกาสใหม่ ๆในการเชื่อมโยงทุนทาง วัฒนธรรมและนวัตกรรมให้เข้ากับเศรษฐกิจดิจิทัล นำคอนเทนต์ทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปวัฒนธรรมรูปแบบดิจิทัลหรือสร้างตลาดกลางทางวัฒนธรรมรูปแบบออนไลน์ จะทําให้ทุนทางวัฒนธรรมได้รับการพัฒนา และเพิ่มมูลค่ามากขึ้น

ขณะที่ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัด วธ. กล่าวว่า การขับเคลื่อน Soft power ความเป็นไทย วธ.ต้องผลักดันทุกสาขาให้เป็นระบบและเป็นรูปธรรม เน้นสร้างการรับรู้สู่คนทั่วโลก สร้างความภาคภูมิใจให้คนในประเทศ โดยในปีนี้จะร่วมกับกองทัพบก ผลักดันมวยไทย ให้เป็น Soft Power ที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย นอกจากนี้ยังจะสนับสนุนการต่อยอดเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกให้เชื่อมโยงกับการพัฒนา Soft Power สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการใหม่ ทั้งนี้ วธ.ได้มีการเก็บข้อมูลเชิงสถิติ เพื่อให้ทราบว่าประเทศไทยมีศักยภาพในด้านใดเพิ่มมากขึ้น จาก 5 สาขาที่มีอยู่ และนำไปสู่การวางแผนการขับเคลื่อน Soft Power สู่ระดับโลก

“ขณะเดียวกันจะสนับสนุนและต่อยอดการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แม้มีสถานการณ์โควิด แต่ วธ.สามารถสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชนจนมีเม็ดเงินเพิ่มถึง 200-300 ล้านบาท และเมื่อเปิดประเทศแล้ว เรามีต้นทุน 'สุดยอดชุมชนต้นแบบเที่ยวชุมชน ยลวิถี' 20 แห่ง ก็หวังว่าจะมีเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ มากขึ้นกว่า 20% และที่สำคัญยังเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาพยนตร์ โดยให้ใช้ทรัพยากรบุคคล สถานที่ถ่ายทำของประเทศ ไทย โดยในปี 2566 มีต่างชาติติดต่อเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยมากขึ้นด้วย” ปลัด วธ. กล่าว

ทีมข่าววัฒนธรรม มองว่า การเดินหน้าขับเคลื่อน Soft Power ให้มีประสิทธิภาพ ถือเป็นความท้าทายของประเทศไทย โดยเฉพาะ วธ.ที่เสมือนหัวใจในการขับเคลื่อนจะต้องกำหนดกลยุทธ์ในการผลิตคอนเทนต์ผลงานเพื่อสามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด อีกทั้งควรมีการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน

เพราะ Soft Power เปรียบได้กับเครื่องมือทางการทูต หากสามารถ โชว์ 'ของดีของไทย' ทำความท้าทายให้เป็นโอกาส ก็จะสร้างเม็ดเงินจากการนำเสนอความเป็นไทยให้ไหลเข้าสู่ประเทศได้อย่างมหาศาล

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2610368