ชาวสวนเร่งปล่อยผึ้งผสมเกสรลิ้นจี่ คาดผลผลิตปีนี้ ไม่ต่ำกว่า 5 พันตัน และออกสู่ท้องตลาดตั้งแต่ช่วงเทศกาลเช็งเม้ง ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน

วันที่ 30 มกราคม 2566 จากสภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ลิ้นจี่ในจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ค่อม รสชาติดีเป็นที่ถูกใจของผู้บริโภค ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 5,200 ไร่ ขณะนี้ ได้ออกดอกสะพรั่ง เตรียมให้ผลผลิตกันเกือบทุกสวน

ดังนั้น เพื่อให้ลิ้นจี่ให้ผลผลิตมากยิ่งขึ้น ชาวสวนลิ้นจี่ในจังหวัดสมุทรสงครามหลายรายจึงได้ประสานผู้เลี้ยงผึ้งจากจังหวัดต่าง ๆ เช่น ชุมพร กาญจนบุรี และชียงใหม่ นำผึ้งมาปล่อยในสวนลิ้นจี่ของตนเองเพื่อให้ช่วยผสมเกสร

นายสนธยา ตันติรักษ์ ชาวสวนในตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา เจ้าของสวนลิ้นจี่รายใหญ่ในจังหวัดสมุทรสงคราม โดยปลูกลิ้นจี่บนพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ รวมลิ้นจี่เกือบ 200 ต้น กล่าวว่า หลังจากอากาศหนาวเย็นที่ผ่านมา ทำให้ต้นลิ้นจี่ซึ่งชอบอากาศเย็นต่ำกว่า 18 องศา ได้ออกดอกบานสะพรั่ง เตรียมให้ผลผลิตแล้วไม่น้อยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เพาะปลูก

ช่วงนี้จึงได้เร่งนำผึ้งเลี้ยงจากจังหวัดชุมพร เพชรบูรณ์ และเชียงใหม่ รวมกว่า 200 ลัง มาปล่อยในสวนลิ้นจี่ของตนและสวนใกล้เคียง คาดว่าลิ้นจี่ของจังหวัดสมุทรสงครามปีนี้หากไม่ได้รับผลกระทบจากพายุฝนทำความเสียหายมากนัก คาดว่าจะให้ผลผลิตรวมกันไม่น้อย 5,000 ตัน และออกสู่ท้องตลาดตั้งแต่ช่วงเทศกาลเช็งเม้ง ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน

ส่วนที่ต้องนำผึ้งมาปล่อยในสวนลิ้นจี่นั้น นายสนธยา บอกว่า เนื่องจากปัจจุบันชาวสวนนิยมปลูกต้นลิ้นจี่พันธุ์ค่อม ซึ่งรสชาติดี เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค แต่ลิ้นจี่พันธุ์ค่อมมีเกสรตัวเมียเป็นส่วนมาก ขณะเดียวกัน ชาวสวนส่วนใหญ่ได้ตัดต้นลิ้นจี่พันธุ์อื่น ๆ เช่น พันธุ์ไทย พันธุ์กะโหลก และพันธุ์จีน ซึ่งรสชาติด้อยกว่าพันธุ์ค่อมแต่มีเกสรตัวผู้เป็นส่วนมากทิ้ง จึงทำให้เกสรตัวผู้น้อยลง เปอร์เซ็นต์ในการติดผลของลิ้นจี่พันธุ์ค่อมจึงน้อยลงไปด้วย จึงต้องอาศัยผึ้งเป็นตัวช่วยในการผสมเกสรลิ้นจี่แบบธรรมชาติ

นอกจากนี้ ผึ้งยังช่วยลดอาการดอกลิ้นจี่เป็นเชื้อราได้ดี จึงฝากไปเพื่อนเกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่ว่าช่วงนี้ให้รดน้ำต้นลิ้นจี่แต่เพียงพอดี อย่าให้มากจนเกินไป และควรงดฉีดพ่นยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีทุกชนิด เพราะอาจจะทำให้ผึ้งที่ออกไปหาน้ำหวานจากเกสรลิ้นจี่ตายแบบยกรังได้

ที่มา : https://mgronline.com/local/detail/9660000009113