พล.อ.ประวิตร ขอบคุณ สทนช. และหน่วยงานที่รับผิดชอบ 10 มาตรการฤดูแล้ง

พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รอง นรม. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ได้เป็นประธานการประชุม คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุม มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

 

ที่ประชุมได้รับทราบ ผลการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ระยะเร่งด่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ จากเหตุการณ์อุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี65 ส่งผลให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย ราว 2.8 ล้านไร่ ใน 16 จังหวัด ภาคกลาง ซึ่ง สทนช.ได้เสนอโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ระยะเร่งด่วนในพื้นที่เจ้าพระยาใหญ่ และขอรับการสนุนงบประมาณประจำปี 66 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ ก่อนเสนอ ครม. ต่อไป

 

จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 โดย สทนช. ได้นำผลการถอดบทเรียนฯมาปรับปรุงเป็น 12 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 การคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงช่วงฝนทิ้งช่วง, มาตรการที่ 2 การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก, มาตรการที่ 3 ทบทวนปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ /เขื่อนระบายน้ำและจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำเชิงบูรณาการ, มาตรการที่ 4 เตรียมความพร้อมซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร ให้พร้อมใช้งานและปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ, มาตรการที่ 5 เตรียมพร้อม /วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือบุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง, มาตรการที่ 6 ตรวจความมั่นคงปลอดภัยคัน ทำนบ พนังกั้นน้ำ, มาตรการที่ 7 ขุดลอกคู คลอง และกำจัดผักตบชวา, มาตรการที่ 8 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้า ก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ, มาตรการที่ 9 เร่งเก็บกักน้ำแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน, มาตรการที่ 10 สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์, มาตรการที่ 11 การสร้างการรับรู้/ประชาสัมพันธ์ และ มาตรการที่ 12 ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย และได้เห็นชอบ แผนป้องกัน และแก้ไขภาวะน้ำท่วมปี 2566 ของลุ่มน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อม ไว้ด้วยต่อไป

 

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน ร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านน้ำ ในทุกมิติ เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านน้ำ ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งไดักำชับให้ สทนช.เตรียมการวางแผนการกักเก็บน้ำในฤดูฝน ให้มากที่สุด

 

เพื่อไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง ด้วย และให้สร้างการรับรู้ และการแจ้งเตือนภัยสถานการณ์น้ำให้ ประชาชนทราบ อย่างทั่วถึง ทันเวลาและต่อเนื่อง

 

นอกจากนั้น พล.อ.ประวิตร ยังได้ขอบคุณ สทนช. และหน่วยงานที่รับผิดชอบ 10 มาตรการฤดูแล้ง ที่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของประชาชน ทั่วประเทศ ได้ผลเป็นอย่างดี ที่ผ่านมา