‘บิ๊กตู่’ เดินทางถึงกรุงบรัสเซลส์แล้ว เตรียมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ ‘เผย’ มีกำหนดหารือทวิภาคีกับผู้นำ 5 ประเทศ

เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น.วันที่ 12 ธ.ค. (ตามเวลาท้องถิ่นของกรุง บรัสเซลส์ช้ากว่าประเทศไทย 6 ชั่วโมง) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และภริยา พร้อม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.การต่างประเทศ เดินทางถึงท่าอากาศยานกรุงบรัสเซลส์  ราชอาณาจักรเบลเยียม เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป (ASEAN-EU Commemorative Summit) ระหว่างวันที่ 12-15 ธันวาคม 2565 จากนั้นเดินทางเข้าโรงแรม Steigenberger Wiltcher’s กรุงบรัสเซลส์ ซึ่งเป็นโรงแรมที่พัก

พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากมีภารกิจในการเข้าร่วมประชุมครั้งนีัแล้ว ยังเป็นการฉลองครบรอบ 45 ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรปด้วย โดยถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในรอบ 45 ปี ในกรอบของอาเซียนที่มีการประชุมระหว่างผู้นำหรือผู้แทนอาเซียน 9 ประเทศ กับผู้นำหรือผู้แทนประเทศในสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ เป็นโอกาสสำคัญที่ผู้นำทั้งสองภูมิภาคทั้งอาเซียนกับสหภาพยุโรปจะได้พบปะแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้แม้จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ แต่ก็เป็นเพียงการพบกันระหว่างผู้นำอาเซียนกับประธานคณะมนตรียุโรป และประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเท่านั้น จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้นำทั้งสองภูมิภาคทั้งอาเซียนกับสหภาพยุโรป

สำหรับประเด็นหลักในการหารือมี 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความมั่นคง เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้ง และความท้าทายต่าง ๆ การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน หลังโควิดคลี่คลาย รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสีเขียวและดิจิทัล ตามแนวนโยบายเศรษฐกิจ BCG ตลอดจนเรื่องของความมั่นคงทางอาหารด้วย นอกจากนี้จะมีการลงนามร่างกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกกับราชอาณาจักรไทย (Thai-EU Partnership and Cooperation Agreement : Thai-EU PCA) ซึ่งใช้เวลายาวนานในการเจรจามา 18 ปี และมาประสบความสำเร็จในครั้งนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ลงนามร่วมกับสหภาพยุโรป โดย ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นพื้นฐานต่อยอดไปถึงการดำเนินการตามเขตการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปต่อไปด้วย

ขณะเดียวการจะมีการหารือทวิภาคี ระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ด้วย อาทิ สาธารณรัฐเช็ก กรีซ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค ฟินแลนด์ เพื่อสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ในภูมิภาค สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และสร้างบรรยากาศแห่งสันติภพ ที่เอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกัน