Monday, 6 May 2024
ภาคกลางไทม์

เปิดใจฮีโรชั้นประถม ทำ CPR ช่วยเด็กจมน้ำ จนรอดชีวิต ชี้ ลองเข้าใจทฤษฎี การทำ CPR ใครๆ ก็ทำได้

เปิดใจ 'น้องหมัด' ปั๊มหัวใจยื้อชีวิตน้อง 6 ขวบพลัดตกน้ำ จนรอดปลอดภัย เผยจดจำการปฐมพยาบาล จากพี่ ๆ มูลนิธิกู้ภัยร่มไทรที่เคยมาอบรมเมื่อไม่นานมานี้ โซเชียลฯ ซูฮก “กล้าหาญ-มีสติ-ช่วยถูกวิธี-เป็นตัวอย่างที่ดีของเยาวชน”

ฮีโรพี่ประถม CPR ช่วยชีวิตน้องอนุบาล

คำกล่าวที่ว่า “ฮีโร ไม่จําเป็นต้องมีพลังวิเศษ” คงเปรียบได้กับเหตุการณ์ที่กำลังถูกแชร์สนั่นโลกออนไลน์ของบ้านเราในขณะนี้ กับเรื่องราวอันน่ายกย่องของหนูน้อยวัยเพียง 12 ปี ผู้เข้าช่วยเหลือเด็กอนุบาล 2 วัย 6 ขวบ ที่ประสบเหตุจมน้ำ ด้วยการทำ CPR (Cardiopulmonary resuscitation) หรือการปฐมพยาบาลด้วยการปั๊มหัวใจ จนเด็กวัย 6 ขวบกลับมาหายใจได้อีกครั้ง

หลังจากที่เรื่องราวถูกส่งต่อออกไป ก็นำมาซึ่งเรียกชื่นชมอย่างล้มหลาม ถึงความกล้าหาญ มีไหวพริบ ความมีสติ และกล้าตัดสินใจในเวลาอันคับขัน ของเด็กชายวัย 12 ปีผู้นี้ ขณะเดียวกันก็มีหลายความเห็นที่บอกว่า ผู้ใหญ่หลายคนยังทำ CPR ไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ

ฮีโรหนุ่มน้อยผู้นี้คือ ด.ช.ศิราพัช ศรีงาม หรือ น้องหมัด นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนศาลาคู้ เขตมีนบุรี

น้องหมัดได้เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า ขณะที่กำลังเล่นอยู่ที่บ้านเพื่อน บริเวณซอยราษฎร์อุทิศ 70 เขตมีนบุรี ก็ได้ยินเสียงขอความช่วยเหลือว่ามีเด็กจมน้ำ ก่อนจะทราบว่าเด็กที่ประสบเหตุนั้นตนเองก็รู้จัก เพราะเป็นน้องที่อาศัยอยู่ละแวกบ้านใกล้เคียงกัน

“เหตุการณ์วันนั้นเป็นวันเสาร์ (22 ต.ค.65) ประมาณตอนเที่ยง ผมมาเล่นที่บ้านเพื่อน แล้วก็มีคุณลุงคนหนึ่งเห็นเหมือนเด็กเล่นน้ำ แต่ไม่ใช่ เขามาจอดดูซักพักนึงเห็นเด็กจมลงไป แล้วเขาก็ลงไปช่วย

เสร็จแล้วเขาขึ้นมา ผมก็ได้ยินว่า ‘ช่วยด้วยๆ’ ผมก็เลยเดินมาดู ถ้าผมลงไปช่วยเองผมก็น่าจะจมเหมือนกันครับ ผมก็เห็นน้องเขาหมดสติ”

โชคดีที่น้องหมัดอยู่บริเวณนั้น จึงใช้ความรู้เรื่องการทำ CPR ปั๊มหัวใจช่วยเหลือเบื้องต้น จนหนูน้อยวัย 6 ขวบได้สติ ก่อนจะมีเจ้าหน้าที่กู้ภัยจากมูลนิธิกู้ภัยร่มไทร นำส่งโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ในเวลาต่อมา

“ผมก็เลยเริ่มทำ CPR ตรง 1 ส่วน 4 ของร่างกายก็คือช่วงหัวใจ ตรงกลาง ตรงอก แล้วก็เอามือมาประกบกันแบบที่เคยเห็นกัน ผมก็ปั๊มไปเรื่อยๆ ประมาณ 4-5 นาที ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไร คิดว่าถ้าเราช่วยได้เราก็ดีใจครับ

หลังจากนั้นน้องเขาลืมตาแต่หายใจยังไม่ค่อยคล่องครับ เพราะสำลักน้ำ แล้วก็มีคนโทร.ตามกู้ภัย ตอนนั้นน้องเขาลุกได้แล้วครับ ก็ดีใจครับที่ได้ช่วย เป็นครั้งแรกเลย(ที่ได้ช่วยชีวิตคน)

จากทฤษฎีสู่ปฏิบัติจริง “ทำ CPR ใครๆ ก็ทำได้”

ถามถึงความรู้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ฮีโรชั้นประถมก็กล่าวว่า เรียนรู้มาจากการจัดฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน CPR@AED ที่โรงเรียนของเขาจัดขึ้น ร่วมกับมูลนิธิกู้ภัยร่มไทร

อีกทั้งยังเป็นความบังเอิญอย่างมาก ที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยผู้มาให้ความช่วยเหลือ นำส่งน้องวัย 6 ขวบผู้ประสบเหตุจมน้ำไปยังโรงพยาบาล ก็เป็นหนึ่งในทีมวิทยากรจากมูลนิธิกู้ภัยร่มไทร ที่ไปทำการฝึกอบรมให้กับโรงเรียนศาลาคู้ในวันนั้นอีกด้วย

ในเวลาเพียงไม่ถึง 3 สัปดาห์หลังจากนั้น ใครจะไปคิดว่า จะมีนักเรียนได้นำความรู้เรื่องของการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานมาใช้จริง จนสามารถช่วยชีวิตคนได้

“วันที่ 5 ต.ค.65 ทางโรงเรียนเขาจัดงานเข้าค่ายลูกเสือ แล้วเขาก็ไปเชิญทางมูลนิธิกู้ภัยร่มไทรมาฝึกสอนทำ CPR ครับ ผมก็ตั้งใจจำสิ่งที่สอน ก็รู้สึกสนุกแล้วก็มีความสุข แล้วพี่ที่เขามาสอนเขาก็มาที่เกิดเหตุ มานำตัวส่งน้องโรงพยาบาลครับ ตอนนี้น้องก็ปลอดภัยแล้วครับ”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ วิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานมูลนิธิกู้ภัยร่มไทรมีนบุรี ก็กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ชื่นชมฮีโรตัวน้อย พร้อมฝากถึงภาครัฐในการสนับสนุนการฝึกอบรมลักษณะนี้ให้หน่วยงานต่างๆ ด้วย

“ต้องขอแสดงความชื่นชมยินดีกับการจัดอบรมการทำ CPR และ AED ให้กับเด็กนักเรียน โดยเฉพาะต้องยินดีกับนักเรียนโรงเรียนศาลาคู้ ที่ได้ผ่านการอบรมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 โดย ด.ช.ศิราพัช ศรีงาม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนศาลาคู้

โดยได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุร่มไทรเมื่อเวลา 13.14 น.ว่ามีเด็กจมน้ำ โดย ด.ช.ศิราพัช ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ได้เข้าช่วยเหลือ และได้ทำ CPR จนสามารถกลับมาหายใจได้ และทางรถกู้ชีพของมูลนิธิกู้ภัยร่มไทร จึงได้นำส่งโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์

คน ปตท. ตั้งเป้าบรรจุ 10,000 ถุงยังชีพ ส่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุโนรู

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมผู้บริหารและพนักงานกลุ่ม ปตท. ในนาม ‘ชมรมพลังไทยใจอาสา กลุ่ม ปตท.’ ร่วมบรรจุถุงยังชีพจำนวน 1,500 ถุง เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากอิทธิพลพายุโนรู ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ได้แก่ เทศบาลตำบลวารินชำราบ, อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 1,000 ถุง พร้อมส่งทีมปฏิบัติการชมรม PTT Group SEALs เจ้าหน้าที่พร้อมเรือท้องแบนและอุปกรณ์กู้ภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ 

นอกจากนั้นจะนำส่งที่ ตำบลท่ามะนาว อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี จำนวน 500 ถุง โดยในปี 2565 นี้ ปตท. มีแผนการดำเนินการแจกจ่ายถุงยังชีพเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวนกว่า 10,000 ถุง โดยถุงยังชีพประกอบด้วย อาหารพร้อมรับประทาน เครื่องอุปโภค บริโภค ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพและสามารถใช้ได้ทันที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเบื้องต้น

26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

26 ตุลาคม วันครบรอบ 5 ปี พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง รัชกาลที่ 9

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชพิธีที่รัฐบาลไทยจัดขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดขึ้น ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 25 – 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 

โดยวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นวันถวายพระเพลิง คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ และเนื่องในวาระครบรอบ 1 ปี กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้มอบหมายให้กรมศิลปากร(ศก.) ดำเนินการจัดกิจกรรมรำลึก “พระสถิตในดวงใจตราบนิรันดร์” ในโอกาสครบ 5 ปี พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 ต.ค. – 2 พ.ย. 2561

อัปเดตราคา 'หมู-เนื้อ-ไก่'

อัปเดตราคาอาหารสดวันนี้ มาดูกันว่าตามท้องตลาด ราคาอาหารสด ประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2565 จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็น ราคาหมู ราคาไก่ ราคาไข่ไก่ รวมไปถึงราคาผักสด เช็กกันเลย..

ปตท.ผนึก 'ม.เชียงใหม่-ซีพีพี' แปลงของเสียเป็นพลังงาน ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก พาไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ปตท. ลงนาม MOU ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัท ซีพีพี ในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

นายณรงค์ไชย ปัญญไพโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) กับ ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ คุณอานนท์ฤทธิ์ธาร ผู้อำนวยการสายงานปฏิบัติการ ผู้แทนจากบริษัท ซีพีพี จำกัด 

สำหรับการลงนามความร่วมมือดังกล่าว เป็นการต่อยอดจากการพัฒนาก๊าซไบโอมีเทนอัดจากน้ำเสียและของเสียโรงงานอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ของ บริษัท ซีพีพี โดยการกักเก็บก๊าซมีเทนจากการบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซ NGV ในสถานีบริการ NGV ในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันได้ต่อยอดความร่วมมือ เพื่อขอการรับรองคาร์บอนเครดิต ในโครงการ T-VER ทั้งนี้เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโครงการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศอย่างแข็งแรงและยั่งยืนตลอดไป

'บิ๊กพลังงาน' ผนึก TCNN พาไทยสู่ Net Zero ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์

กลุ่ม ปตท. ผนึกกำลังเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (TCNN) ยกระดับลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมขับเคลื่อนประเทศมุ่งสู่ Net Zero 

ไม่นานมานี้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network หรือ TCNN) ได้เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรรมการเครือข่ายฯ (Council Board) ประจำปี 2565 

โดยในงานนี้มี นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรรมการเครือข่ายฯ และผู้บริหารกลุ่ม ปตท. เข้าร่วมการประชุม เพื่อสรุปผลความสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการฯ ยังได้หารือถึงแผนการดำเนินงานให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ของ TCNN ในการเป็น ‘เครือข่ายแกนนำของประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero’ อีกด้วย

‘หาดชะอำ’ สุดสำราญ นทท.คืบคลานไม่แพ้บางแสน ดึงบรรยากาศการค้าคึกคักอีกครั้งช่วงวันหยุดยาว

พวกเขากลับมาแล้วจริง ๆ

ในระหว่างที่ช่วงหยุดยาววันปิยมหาราช ทั้งชาวไทยใครๆ ก็ต่างพาไปโฟกัสบางแสน ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งนอกและในพื้นที่นับล้าน คืบคลานเข้ามาร่วมสร้างความคึกคักนั้น

ช่วงเดียวกัน บรรยากาศการท่องเที่ยวที่ชายหาดชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี สถานที่ท่องเที่ยว และพักผ่อนยอดฮิตริมทะเลของ จ.เพชรบุรี ก็เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาตินับหมื่นคนที่เดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศ เพื่อมาพักผ่อนเล่นน้ำทะเลดับร้อนจำนวนมากพร้อมกับมานั่งรับประทานอาหารริมชายหาด 

ช่วงวันหยุดยาว ระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น เปลี่ยนบรรยากาศบริเวณชายหาดชะอำที่เคยเหงา แลดูมีสีสัน โดยส่วนใหญ่มากันเป็นครอบครัว และหมู่คณะ แถมตลอดแนวชายหาดชะอำเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ 

ผลดีชัดๆ คือ พ่อค้าแม่ค้ายอดขายดีขึ้นมาก กอบโกยรายได้กันตั้งแต่ด้านถนนเพชรเกษมตั้งแต่บริเวณแยกเข้าชายหาดชะอำ ไปจนถึงเขตติดต่อ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

เช็กเลย!! พิกัดสถานที่ 'บำบัด-รักษา' ผู้ติดยาเสพติด ปรึกษาผ่าน LINE @1165huangyai ตลอด 24 ชม.

เมื่อวันที่ (26 ต.ค. 65) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกรณีการก่อเหตุความรุนแรง ส่งผลให้มีทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยหลายกรณีผู้ก่อเหตุมีการใช้สารเสพติด รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการแก้ไขปัญหาจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทุกคนในสังคม หากมีบุคคลในครอบครัวเป็นผู้ติดสารเสพติด หรือคนใกล้ชิดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ขอให้เร่งเข้าสู่กระบวนการบำบัดโดยด่วน 

ทั้งนี้ หากปล่อยให้มีการเสพยาเป็นระยะเวลานาน จะเป็นต้นเหตุของการกระทำความรุนแรงต่าง ๆ เนื่องจากยาเสพติดมีผลให้สมองถูกทำลาย ความสามารถในการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลลดลง มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ก้าวร้าว หงุดหงิด เกิดอาการทางจิตประสาท ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เป็นสาเหตุของการก่อความรุนแรง และนำไปสู่การก่อเหตุสลดในสังคมซ้ำ ๆ ได้

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ติดยาเสพติดสามารถเข้ารับคำปรึกษาเบื้องต้นก่อนเข้ารับการบำบัดรักษาหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลตำรวจ ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กรุงเทพมหานคร

ทำไมไทยต้องนำเข้าน้ำมัน? ทั้งที่ผลิตน้ำมันได้

รู้ไหม? ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตน้ำมัน แล้วไม่พอต่อการใช้งานของคนในประเทศ

ราคาน้ำมันที่มีการผันผวนตลอดเวลา ไม่ว่าจะเนื่องด้วยเหตุผลใดก็ตาม ย่อมส่งผลต่อความไม่พอใจของประชาชนมาตลอด และเมื่อไม่พึงพอใจก็จะเกิดการเปรียบเทียบ ในวิกฤติราคาน้ำมันทุก ๆ ครั้ง ดังที่จะเห็นจนคุ้นตา คือการที่มักมีบางกลุ่ม เปรียบเทียบราคาพลังงานไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะมาเลเซีย

เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีกรณีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ที่ลงทุนเดินทางไปถึงมาเลเซียเพื่อเติมน้ำมันที่นั่น ก่อนจะเปรียบเทียบราคาน้ำมันของไทยกับมาเลเซียลงสื่อโซเชียล ส่งผลให้รัฐบาลมาเลเซียสั่งการให้มีการตรวจสอบผู้มาขอรับบริการว่าเป็นพลเมืองมาเลเซียหรือไม่ เนื่องจากราคาน้ำมันของมาเลเซีย ได้รับการชดเชยราคาโดยตรงด้วยภาษีของคนมาเลเซีย

แต่หากมองย้อนกลับไปที่ประเทศลาว จะเห็นว่าประเทศลาวนั้น มีราคาน้ำมันที่สูงกว่าไทยตลอด เนื่องจากว่าลาวนั้น ไม่มีแหล่งเชื้อเพลิงของตนเอง ราคาน้ำมันในลาว จึงเป็นราคาที่เพิ่มค่าใช้จ่ายในการขนส่งจากประเทศไทยเข้าไปร่วมด้วย เป็นสาเหตุให้มีราคาที่สูงกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง

นั่นทำให้คนลาวบางส่วน เข้ามาเติมน้ำมันในประเทศไทย และประเทศไทยก็สั่งห้ามเช่นเดียวกับมาเลเซีย

หันกลับมาพิจารณาถึงที่มาของราคาน้ำมัน ประเทศที่มีความสามารถในการขุดเจาะน้ำมันได้เอง และกลั่นน้ำมันได้เอง จะมีราคาน้ำมันสำหรับการใช้ในประเทศที่มีราคาถูกลงมากกว่าประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานทั้งหมด

แต่จะถูกมากน้อยเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับว่า ประเทศนั้น ๆ มีปริมาณน้ำมันสำรอง และกำลังการผลิตมากเพียงพอที่จะตอบสนองของคนทั้งประเทศหรือไม่

จากข้อมูลของ Worldometer ระบุว่า ใน พ.ศ. 2559 มาเลเซียมีปริมาณน้ำมันสำรอง 3,600,000,000 บาร์เรล มากเป็นอันดับที่ 28 ของโลก ในขณะที่ประเทศไทยมีเพียง 404,890,000 บาร์เรล อยู่อันดับที่ 50 อีกทั้งมีปริมาณน้อยกว่ามาเลเซียถึง 8.9 เท่า

นอกจากนี้ กำลังการผลิตของมาเลเซียนั้น เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ สำหรับประชากรเพียงแค่ 32 ล้านคน มีน้ำมันเหลือใช้มากถึงวันละ 54,168 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ไทย ทั้ง ๆ ที่ผลิตได้น้อยกว่า แต่กลับมีอัตราการบริโภคที่สูงกว่า จนทำให้กำลังการผลิตต่อวัน น้อยกว่าอัตราการบริโภคมากถึง 770,671 บาร์เรลต่อวันเลยทีเดียว

แต่ถึงแม้มาเลเซียจะมีกำลังการผลิตน้ำมันที่ล้นเหลือ แต่มาเลเซียก็ยังมีการนำเข้าน้ำมันมากถึง 197,489 บาร์เรลต่อวัน และส่งออกน้ำมัน 390,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ราคาน้ำมันในมาเลเซียเองก็ผันผวนตามราคาน้ำมันของโลกด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ส่งผลกระทบมากเท่ากับประเทศไทยนั่นเอง

จากรายงานของ Worldometer ระบุว่า มาเลเซียมีน้ำมันสำรอง 0.2% เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำมันสำรองของโลก (1,650,585,140,000 บาร์เรล อ้างอิงข้อมูล พ.ศ. 2559) ในขณะที่ประเทศไทย มีปริมาณน้ำมันสำรองเพียง 0.02345% เพียงเท่านั้น

การที่จะนำประเทศไทยไปเปรียบเทียบกับมาเลเซีย ในเรื่องราคาน้ำมัน และความพยายามที่จะผลักดันให้ประเทศไทย ดำเนินนโยบายราคาน้ำมันแบบมาเลเซียนั้น จึงไม่ต่างอะไรกับการขี่ช้างจับตั๊กแตนเลย

การดำเนินนโยบายการบริหารราคาและกำลังการผลิตน้ำมันของประเทศอย่างเหมาะสม เป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าการกดราคาน้ำมันเพียงอย่างเดียว

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือประเทศเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลกถึง 299,953,000,000 บาร์เรล ซึ่งมากกว่ามาเลเซียถึง 83 เท่า แต่เนื่องด้วยรัฐบาลเวเนซุเอลาเลือกที่จะผูกขาดการผลิตน้ำมันของประเทศเอาไว้กับรัฐวิสาหกิจเพียงรายเดียว เพื่อส่งเสริมนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาอ่อนแอ จนเป็นเหตุให้เศรษฐกิจของประเทศพังทลายลง ในเวลาต่อมา

ในขณะที่ประเทศไทย กลุ่มบริษัทพลังงานไทย อาทิเช่น ปตท. และบางจาก มีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาพลังงานของประเทศ มีการลงทุนในธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่นโรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายส่งเสริมพัฒนาพลังงานของกระทรวงพลังงาน ทำให้โครงสร้างพลังงานของประเทศไทยนั้น มีความมั่นคงแข็งแรง

โดยสรุปแล้ว ประเทศไทยของเรา ไม่ได้มีแหล่งน้ำมันที่มากเพียงพอต่อความต้องการของประเทศเลย การนำเข้าน้ำมัน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การที่ประเทศไทยของเรา มีกลุ่มธุรกิจพลังงานสัญชาติไทย ทำให้เรามีศักยภาพในการพัฒนาประสิทธิภาพของพลังงานได้ด้วยตัวเอง มีองค์ความรู้เป็นของตัวเอง

พวกเราทุกคนจึงควรจะเข้าใจในสภาพความเป็นจริงด้านพลังงานของประเทศ เพื่อการวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลและกลุ่มบริษัทพลังงานอย่างมีเหตุผล เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างถูกต้อง ตามระบอบประชาธิปไตย


ที่มา : The Structure
อ้างอิง:
[1] Worldometer, “Thailand Oil (2016)” https://www.worldometers.info/oil/thailand-oil/
[2] Worldometer, “Malaysia Oil (2016)” https://www.worldometers.info/oil/malaysia-oil/
[3] Worldometer, “Oil Reserves by Country (2016)” https://www.worldometers.info/oil/oil-reserves-by-country/
[4] The Infographics Show, 2021, “What Actually Went Wrong With Venezuela” https://www.youtube.com/watch?v=Olw5Gaugpl8&t=283s


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. Klang Time Thailand
Take Me Top