Thursday, 9 May 2024
น้ำท่วม

รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เชิญถุงพระราชทาน มอบผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์

ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายวลฺลภ ยุติธรรมดำรง รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เชิญถุงพระราชทานมามอบแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยจากพายุโนรู ในพื้นที่อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอศรีเทพ และอำเภอวิเชียรบุรี  จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 2,939 ชุด โดยมี นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวรายงานสรุปสถานการณ์อุทกภัย พร้อมด้วย นายอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ นายอำเภอศรีเทพ นายอำเภอวิเชียรบุรี หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมพิธี 

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงห่วงใยและเมตตาต่อพสกนิกร ที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ พระราชทานถุงยังชีพ มามอบให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอศรีเทพ และอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 2,939 ชุด โดยภายหลังจากมอบถุงพระราชทาน นายวลฺลภ ยุติธรรมดำรง รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นำถุงยังชีพพระราชทานไปมอบให้แก่ผู้พิการ ผู้ป่วย ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในพื้นที่ตำบลสะเดียง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จำนวน 3 ราย ประชาชนจังหวัดเพชรบูรณ์ รู้สึกซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณอันล้นพ้น อย่างหาที่สุดมิได้ของ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงห่วงใยและเมตตา ต่อพสกนิกรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ในครั้งนี้

ทั้งนี้อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 16 ตำบล 121 หมู่บ้าน ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ จำนวน 8 ชุมชน บ้านเรือนและทรัพย์สินของราษฎรที่ได้รับความเสียหาย 930 ครอบครัว อำเภอศรีเทพ มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 7 ตำบล 103 หมู่บ้าน บ้านเรือนและทรัพย์สินของราษฎรที่ได้รับความเสียหาย 644 ครอบครัว อำเภอวิเชียรบุรี มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 14 ตำบล 192 หมู่บ้าน บ้านเรือนและทรัพย์สินของราษฎรที่ได้รับความเสียหาย 1,365 ครอบครัว จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ร่วมกับ ส่วนราชการ หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรการกุศล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนจิตอาสา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว ปัจจุบันพื้นที่ประสบอุทกภัยส่วนใหญ่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว และได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ในพื้นที่อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอศรีเทพ และอำเภอวิเชียรบุรี เพื่อให้ส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป


มนสิชา  คล้ายแก้ว/สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์

เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยหลายพื้นที่ยังจมบาดาล

เมื่อวันที่ (18 ตุลาคม 2565) ที่วัดรางบัวทอง ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พื้นที่ตำบลบ้านกุ่ม และบริเวณใกล้เคียง โดยมีนายปรีชา ทองคำ นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 17 ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 2 สุพรรณบุรี ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุพรรณบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิธี

นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่าสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่สุพรรณบุรีขณะนี้ทางตอนเหนือเริ่มคลี่คลายส่วนทางตอนใต้ของสุพรรณบุรีระดับน้ำยังเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังมีน้ำค้างอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาปริมาณมาก เขื่อนเจ้าพระยาระบายลงเข้าแม่น้ำท่าจีนผ่านทางประตูพลเทพประมาณ 170 ลบ.ม.ต่อวินาที จาก 180 ลบ.ม.ต่อวินาที ที่ประตูโพธิ์พระยาก็ลดลงเล็กน้อย จากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากปริมาณน้ำลดลง และน้ำในทุ่งของพื้นที่สุพรรณก็ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน และน้ำทั้งหมดก็จะไหลงทุ่งรับน้ำโพธิ์พระยาเขต อ.บางปลาม้า และ อ.สองพี่น้อง 

ทำให้ อ.บางปลาม้า และสองพี่น้อง ยังคงมีระดับน้ำที่ทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอีกระยะหนึ่งพอน้ำตอนเหนือลดลงน้ำตอนใต้ก็จะลดลงนอกจากน้ำทะเลจะหนุนขึ้นบางวันตนคิดว่าสถานการณ์น้ำท่วมตอนนี้อยู่ในช่วงท้าย ๆ แล้ว อย่างไรก็ตามทุ่งโพธิ์พระยา เขต อ.บางปลาม้า และสองพี่น้อง เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำทำให้น้ำแห้งช้าพี่น้องประชาชนก็ต้องทนอยู่กับน้ำอีกระยะหนึ่งอาจจะประมาณ 1 เดือน

ปีที่แล้วพื้นที่แห้งสุดท้ายประมาณวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ซึ่งถือว่าล่าช้ากว่าปกติ ปีนี้ได้คุยกับชลประทาน ปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าอยากให้น้ำแห้งช่วงเดือนมกราคม เพราะวิถีชีวิตของชาวนา อ.บางปลาม้า และสองพี่น้องจะเริ่มทำนารอบแรกเดือนมกราคม ทำไป 4 เดือนก็เก็บเกี่ยว และทำนารอบ 2 คือเดือนพฤษภาคม เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวทันน้ำที่จะมาซึ่งเป็นแนวทางของจังหวัดที่เตรียมไว้

วันนี้ได้มาเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ถึงแม้ว่าระดับน้ำในภาพรวมทั้งประเทศจะน้อยลง แต่ของเราเป็นที่ราบลุ่มทราบว่าน้ำยังอยู่กับเราอีกระยะหนึ่ง พื้นที่ตำบลบ้านกุ่ม และพื้นที่ใกล้เคียงจะมีน้ำท่วมเยอะพี่น้องประชาชนหลายหลังคาเรือนที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม บางท่านมีบ้านญาติพี่น้อง บางท่านบ้านเรือนอยู่ห่างไกล แต่ไม่มีที่อยู่ เราจึงจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้นที่วัดรางบัวทอง ตำบลบ้านกุ่ม พื้นที่ 4 ไร่กว่า มีอาคารที่พักสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้เข้ามาพักอาศัยเป็นการชั่วคราว

‘บิ๊กตู่’ ยันตามติด!! ไม่ปล่อยน้ำท่วมทุ่งนาน พร้อมเทงบ 504 ล้าน ดูแล 16 โครงการ

นายกฯ ยันรัฐบาลไม่ปล่อยน้ำท่วมทุ่ง ระบุไม่นิ่งนอนใจสั่งเร่งระบายน้ำออกทันที พร้อมจัดสรรงบบริหารจัดการในพื้นที่ 16 โครงการ วงเงิน 504 ล้าน

เมื่อ (24 ต.ค. 65) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ภายหลังรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี กล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด ซึ่งได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งแก้ปัญหาการระบายน้ำ และรัฐบาลได้ดูแลจัดสรรงบประมาณแผนงาน โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี ปี 65 มีจำนวนโครงการทั้งสิ้น 16 โครงการ วงเงิน 504 ล้านบาท ประชาชนได้รับประโยชน์ 3,476 ครัวเรือน และพื้นที่ได้รับการป้องกัน 6,569 ไร่ ตัวอย่างโครงการ ได้แก่...

1. แก้มลิงลำบางชัน ต.บ้านแป้ง อ.พรหมบุรี (สำนักชลประทาน) 

2. อาคารป้องกันตลิ่งแม่น้ำน้อย ต.ไม้ดัด อ.บางระจัน (สำนักชลประทาน) 

3. ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองสิงห์บุรี ระยะที่ 2 (กรมโยธาธิการและผังเมือง) 

4. งานวางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำ ต.ม่วงหมู่ อ.เมืองสิงห์บุรี (การประปาส่วนภูมิภาค) โดยได้กำหนดแผนงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งสำรวจดูแลความเดือดร้อน เพื่อลดและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด รวมทั้งเร่งระบายน้ำให้เร็วขึ้น เพื่อลดความเสียหายให้กับประชาชน และมีระบบการแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมความพร้อมให้ทันต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ในส่วนของบริเวณจุดที่มีความเสียหายที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก หรือน้ำท่วมทุ่ง จะต้องแก้ไขปัญหาระบายน้ำทันที ต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจสาเหตุน้ำท่วม ระบบการระบายน้ำ และการปรับสภาพความเป็นอยู่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ปล่อยน้ำให้ท่วมทุ่ง ซึ่งบางพื้นที่ได้รับการแก้ไขปัญหาแล้ว แต่บางพื้นที่ยังทรงตัว อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ อะไรที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน รัฐบาลพร้อมจะช่วยเหลือแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ โดยได้เตรียมงบประมาณไว้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนแล้ว

22 พฤศจิกายน พ.ศ.2531 ท่อนซุงและโคลนถล่ม ‘กะทูน’ อ.พิปูน โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่จากภัยธรรมชาติ

ย้อนไปเมื่อ 34 ปีก่อน เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่จากภัยธรรมชาติ หลังฝนตกหนักพัดพาดินโคลนและท่อนซุง ถล่มหมู่บ้านในตำบลกะทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช คร่าชีวิตหลายร้อยคน

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ที่ตำบลกะทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดเหตการณ์ดินโคลนและท่อนซุงที่ไหลมากับน้ำถล่มบ้านเรือนเสียหายไปกว่า 1,500 หลัง พื้นที่การเกษตรอีก 6,150 ไร่ มีผู้เสียชีวิตถึง 700 คน ผู้คนที่รอดชีวิตต้องย้ายออกจากที่อยู่อาศัยเดิม และไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่ได้อีก

ก่อนเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้นราว 3-4 วัน ได้เกิดพายุดีเพรสชั่น มีฝนตกปรอยๆ ต่อเนื่องมาหลายวัน ทำให้ดินบนภูเขาซับน้ำไว้จนชุ่มโชก และเมื่อฝนยังเพิ่มปริมาณน้ำอีกไม่หยุด ดินที่รับน้ำหนักไว้มากจนเกินกำลัง ก็ลื่นไถลลงมาตามทางลาด ทำให้ดินที่อยู่ด้านล่างต้องถล่มลงมาด้วย พร้อมต้นไม้ป่าและต้นยางพาราที่ชาวบ้านขึ้นไปปลูกไว้บนเขาถูกถอนรากถอนโคน กลายเป็นอาวุธของกระแสน้ำกวาดบ้านเรือนและชีวิตผู้คนไปกับกระแสน้ำ อีกทั้งยังมีโคลนดินตามมาถล่มทับ

นอกจากนี้ ตำบลกะทูนซึ่งภูมิประเทศเป็นแอ่งรับน้ำมีพื้นที่ 70 ตารางกิโลเมตรนี้ มีลำธารหลายสายรับน้ำจากเชิงเขาโดยรอบมารวมลงในคลองกระทูน แต่มีทางน้ำไหลออกกว้างเพียง 70 เมตรเท่านั้น เมื่อถูกต้นไม้บนเขาและไม้ในสวนที่ชาวบ้านปลูกไหลมาปิดทางน้ำออก ระดับน้ำในแอ่งกะทูนจึงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ฝังกลบทุกสิ่งทุกอย่างและทุกชีวิตไว้ใต้น้ำ


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. Klang Time Thailand
Take Me Top